โดย... ทพญ.กมลชนก เดียวสุรินทร์
สาวน้อยเจ้าของฟันในภาพอายุ 4 ปีกว่า น้องมาพบหมอครั้งแรกเมื่ออายุ 2 ปี มีคราบขี้ฟันเหลืองๆบริเวณคอฟันแทบทุกซี่ โดยเฉพาะฟันหน้าบน (เสียดายไม่มีรูปประกอบ เพราะเจอกันครั้งแรก ตอนนั้นน้องเพิ่ง 2 ขวบก็ร้องไห้น่ะค่ะ) หลังจากหมอขัดฟันทำความสะอาดให้ ก็เห็นผิวฟันมีลักษณะเป็นรอยขุ่นขาวเป็นจุดๆปนกับเส้นขาวๆที่คอฟัน มีบางตำแหน่งเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ โดยรอยขุ่นขาวและน้ำตาลอ่อนนี้อยู่บนชั้นผิวเคลือบฟัน (enamel) ไม่สามารถขัดออกได้ แต่ยังไม่เป็นรู รอยนี้เป็นเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวเคลือบฟันที่มีการสูญเสียแร่ธาตุ (แคลเซียม ฟอสเฟต) ออกไป ที่เรียกว่า Demineralization
หมอจึงอธิบายให้คุณแม่เข้าใจถึงกระบวนการเกิดฟันผุ
Demineralization เป็นระยะแรกของกระบวนการเกิดฟันผุ สาเหตุเพราะมีความเป็นกรดในบริเวณนั้น กรดเกิดจากแบคทีเรียในขี้ฟันที่กำจัดออกไม่หมด เช่น แปรงทีไรก็ไม่โดนบริเวณนั้นสักที บริเวณที่แปรงไม่โดนนี้ก็จะมีขี้ฟันสะสม พอสะสมนานหลายวันเข้า ใต้ขี้ฟันนั้นจะเป็นกรด ทำให้ผิวฟันเริ่มผุได้ นอกจากนั้น หากมีอาหารที่มีน้ำตาลอยู่บนผิวฟัน แบคทีเรียก็จะผลิตกรดเพิ่มขึ้น ก็เป็นปัจจัยเสริมให้เกิด Demineralization เร็วขึ้น (ถ้าเกิดต่อเนื่องก็จะกลายเป็นรูผุ)
อย่างไรก็ตาม ร่างกายของเรามีกระบวนการซ่อมแซมตัวเอง เมื่อเกิด Demineralization ที่ฟันสูญเสียแร่ธาตุไปนี้ ก็มีการดูดซึมแร่ธาตุกลับคืน (Remineralization) โดยพระเอกของเราคือ น้ำลายเราเองนี่ล่ะค่ะ ในน้ำลายเรามีแคลเซียมและฟอสเฟตอยู่แล้ว เมื่อฟันสะอาดและว่างจากอาหารพวกแป้งและน้ำตาล การซ่อมแซมก็จะเกิดขึ้น
ในแต่ละวัน เมื่อทานอาหารพวกแป้งและน้ำตาลปุ๊บ ในช่องปากจะเกิดภาวะเป็นกรด (จากแบคทีเรียที่มีอยู่ในช่องปากใช้น้ำตาลทำให้เกิดกรด) เมื่อความเป็นกรดมากขึ้น ผิวเคลือบฟันก็จะอ่อนนิ่มลง แร่ธาตุเริ่มหลุดออกไป (Demineralization) กระบวนการผุเริ่มขึ้นแล้วภายใน 1-2 นาทีที่ฟันสัมผัสน้ำตาล แต่หากทานอาหารไม่นาน ทานเสร็จก็ทำให้ช่องปากว่าง ไม่มีอาหารตกค้างอยู่ น้ำลายเราจะทำหน้าที่ปรับสมดุล ให้ความเป็นกรดค่อยๆลดลง และเกิดการดูดซึมแร่ธาตุกลับคืนสู่ผิวฟันที่อ่อนนุ่มลงนั้นให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม กระบวนการซ่อมแซมนี้ (Remineralization) ใช้เวลานานเป็นชั่วโมง
เมื่อทานมื้อต่อไป ก็เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำอีก เป็นอย่างนี้ทั้งวันทุกครั้งที่เราทานอาหาร เราจึงต้องทำให้วงจร Demineralization – Remineralization กลับไปมาได้ตลอด เพื่อให้ฟันไม่เสียแร่ธาตุอย่างเดียวจนผุ ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของคำแนะนำว่า ให้ทานอาหารเป็นมื้อเป็นคราว ไม่ทานจุบจิบ ไม่อมข้าว ไม่อมขนมหวาน อย่าให้ขนมหวานติดค้างบนตัวฟัน และแปรงฟันให้สะอาดจริงเพื่อลดปริมาณแบคทีเรีย
เมื่อหมอขัดฟันให้เด็กน้อยจนสะอาด และตรวจพบผิวฟันมีรอยขุ่นขาวแต่ยังไม่เป็นรูผุแบบนี้ เรายังไม่ต้องอุด แต่ต้องมีวิธีที่จะหยุดยั้งไม่ให้รอยนี้ไปต่อ หมอฟันจะทาฟลูออไรด์ให้ทั่วบนผิวฟัน เพื่อกระตุ้นให้มี Remineralization โดยฟลูออไรด์จะช่วยให้เกิดการดูดซึมแร่ธาตุแคลเซียม ฟอสเฟตจากในน้ำลายให้กลับเข้าไปเสริมสร้างผิวฟันให้แข็งแรงขึ้น จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแล และเป็นผู้หยุดยั้งไม่ให้รอยขุ่นขาวเปลี่ยนเป็นรูผุด้วยเช่นกัน เพื่อลูกตัวน้อยจะได้ไม่ต้องโดนอุดฟัน
วิธีดูแลไม่ยากค่ะ เพราะยังไม่เป็นรู และสิ่งที่พ่อแม่จะต้องทำ ก็ไม่ทำให้ลูกเจ็บแต่อย่างใดค่ะ
ข้อแรก แปรงฟันให้สะอาดทุกวัน วันละ 2 ครั้ง แปรงให้สะอาด หมายถึง ไม่มีขี้ฟันหลงเหลืออยู่เลยนะคะ เวลาแปรงฟันให้ลูก คุณแม่ควรจะต้องมองเห็นตำแหน่งที่วางแปรงลงไปชัดเจน ไม่แปรงแหย่ๆมั่วๆบอกไม่ได้ว่าโดนทั่วหรือไม่นะคะ การจับลูกนอนหนุนตักแม่ แล้วแม่แปรงฟันให้ (ตำแหน่งแม่นั่งเหมือนตำแหน่งของหมอฟันนั่งน่ะค่ะ) จะทำให้แม่แปรงได้ถนัดขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะและให้ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ด้วยเลย เมื่อฟันมีรอยขุ่นขาว เราต้องการฟลูออไรด์มาเป็นผู้ช่วยด้วยค่ะ
ข้อสอง ไม่อมข้าว ไม่อมนม ไม่อมขนม ไม่ทานอาหารหวานบ่อย เมื่อทานอาหารเสร็จต้องกุกๆน้ำดื่มหรือบ้วนน้ำให้สะอาดทุกครั้ง เด็กเล็กๆผู้ใหญ่ยังต้องดูแล ลูกอมข้าวก็ต้องกระตุ้นให้เคี้ยวและกลืน แต่ละมื้อของเด็กเล็กๆไม่ควรเกิน 20-30 นาที (จากการสอบถามพ่อแม่เด็กที่มีฟันเริ่มผุเพราะอมข้าว พบว่าลูกทานแต่ละมื้อนานกว่า 30 นาทีค่ะ) อย่าปล่อยให้ลูกทำตามใจตัวเองในเรื่องที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพนะคะ
สาวน้อยในภาพนี้ วันแรกที่มา คุณแม่บอกว่า แปรงฟันให้ลูกทุกวัน แต่ลูกไม่ค่อยยอม โดยเฉพาะเวลาที่แปรงฟันหน้าบน เด็กน้อยมักจะเม้มริมฝีปากบนลงมาปิด ทำให้แปรงยาก ... หมอแนะนำวิธีแปรงและท่านอนแปรงฟัน อธิบายท่าทาง การวางแปรง (แม้กระทั่งการจับตัวลูกให้นอนหากไม่ยอมดีๆ! ลูกหมอตอนเล็กๆก็ไม่ยอมดีๆก็โดนจับมานอนแปรงจนได้ ไม่นานก็ยอมดีๆเองล่ะค่ะ) หมอให้ใช้ยาสีฟันมีฟลูออไรด์ แต่ยังไม่ได้ให้ทานฟลูออไรด์ชนิดเม็ดเสริมนะคะ และก็นัดตรวจอึก 3 เดือน จะได้ไม่นานเกินไป เพื่อดูว่าคุณแม่ทำได้หรือไม่ ฟันลูกกลายเป็นรูผุไปหรือยัง
ครั้งต่อมา ลูกไม่มีขี้ฟันเหลืองๆแล้ว รอยขาวขุ่นมีเหมือนเดิม ไม่เพิ่มขึ้น เพราะคุณแม่แปรงฟันให้ได้อย่างดี ด้วยท่านอนแปรง คุณแม่บอกว่า ให้ลูกนอนตักแล้วแปรง มันง่ายกว่าเดิม แถมเห็นครบทุกซี่ ไม่เหมือนตอนที่ลูกยืนหรือนั่งให้แม่แปรง แบบนั้นแม่ไม่เคยเห็นฟันบนเลยค่ะ
จากนั้นเราเจอกันทุก 4 เดือน เพื่อมาเคลือบฟลูออไรด์ และให้หมอตรวจฟันว่ารอยผุไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งในรูปนี้ ผ่านมา 2 ปี สาวน้อยอายุ 4 ขวบกว่า นอนนิ่งอวดฟันให้ถ่ายรูปอย่างดี รอยขาวขุ่นแม้ไม่หายไป แต่เมื่อดูดีๆขาวขุ่นดูด้านๆวันนั้น กลายเป็นขาวขุ่นเงาๆ เหมือนมีผิวขัดเงาเคลือบด้านบน และที่สำคัญไม่ลุกลามเพิ่มเป็นรูผุ จึงไม่ต้องอุดฟัน และการแปรงฟันอย่างสะอาดก็ทำให้ฟันซี่อื่นๆไม่ผุด้วยค่ะ