บทความสำหรับผู้ปกครอง

img

ความสำคัญของฟันน้ำนม

โดย... ทพญ.กมลชนก เดียวสุรินทร์


คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้ทราบกันดีแล้วว่า ฟันน้ำนมก็มีความสำคัญ แล้วมันสำคัญขนาดไหนอย่างไร มาลองดูเหตุผลกันชัดๆอีกครั้งนะคะ


ภาพนี้แสดงฟันน้ำนม ทั้ง 20 ซี่ มีตัวเลขแสดงช่วงอายุที่ฟันขึ้น หน่วยเป็นเดือน (+/-  6 เดือน) และอายุที่ฟันซี่นั้นๆหลุดเมื่อฟันแท้จะมาแทนที่ หน่วยเป็นปี (+/-  1 ปี) 

ฟันซี่แรกที่ขึ้นในช่องปากลูกเป็นฟันซี่หน้าล่างตรงกลางค่ะ ฟันซี่นี้ขึ้นมาเมื่ออายุ 6-10 เดือน และอยู่ในช่องปากจนอายุ 6-7 ปี ส่วนฟันหน้าบน ขึ้นมาช่วงอายุก่อน 1 ปี และหลุดเมื่อ 7-8 ปี ดังนั้นตั้งแต่ขวบปีแรกจนประถมต้น เป็นเวลาที่ฟันหน้าน้ำนมต้องทำหน้าที่
 

สำหรับฟันกราม ฟันกรามน้ำนมซี่แรก (first molars) ขึ้นเมื่ออายุประมาณ 1 ขวบครึ่ง และจะต้องอยู่ถึงอายุ 10-11 ปี ส่วนฟันกรามน้ำนมซี่ในสุด (second molars) ขึ้นเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง และจะอยู่ถึงอายุ 12 ปี ฟันกรามน้ำนม (molars) ทั้ง 8 ซี่ในปากลูก จึงต้องอยู่ทำหน้าที่เกือบ 10 ปี ในช่วงก่อนวัยอนุบาลจนประถมปีที่ 6 จึงจะถึงเวลาหลุดไปและมีฟันแท้มาแทน..  ใครว่า ฟันน้ำนมเดี๋ยวก็หลุด..... ไม่ “เดี๋ยว” แล้ว ใช่ไหมคะ  10 ปี เป็นเวลาไม่ใช่น้อยเลย แถมยังเป็นช่วงวัยที่เด็กต้องมีการเจริญเติบโต และพัฒนาการในทุกๆด้าน ฟันที่แข็งแรงมีความสำคัญต่อพัฒนาการของลูกอย่างมากค่ะ

หน้าที่หลักของฟันหน้าน้ำนม 

1. ใช้กัด หรือตัดอาหาร 

2. เพื่อให้การออกเสียงชัด เด็กวัยนี้เป็นวัยฝึกพูด การที่ฟันหน้าน้ำนมผุ แหว่งไป มีผลต่อการออกเสียงนะคะ กว่าฟันแท้จะขึ้นมาแทนตอน 7 ขวบ น้องก็อาจโดนเพื่อนล้อเรื่องพูดไม่ชัดไปแล้ว 

3. ความสวยงาม เด็กที่มีฟันหน้าผุดำๆ หรือฟันหลอเพราะถูกถอนไป อาจมีคนทักบ่อยๆ เมื่อเป็นเด็กเล็ก เด็กจะยังไม่ค่อยได้ใส่ใจนัก แต่เมื่ออยู่อนุบาล โดยเฉพาะอนุบาล 2-3 เด็กๆโตพอที่จะรู้ว่าสวยไม่สวย มีฟันผุ หรือโดนล้อ อาจทำให้เด็กหมดความมั่นใจในการพูดหรือยิ้ม เพราะไม่อยากโชว์ฟัน 

หน้าที่หลักของฟันกรามน้ำนม

1. ใช้เคี้ยวอาหาร ฟันกรามที่แข็งแรง สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้อย่างดี เด็กอยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต ต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านพยายามสรรหาอาหารที่ดีมีประโยชน์ให้ลูกทาน แต่ถ้าลูกมีฟันผุ เคี้ยวอาหารแล้วเจ็บ ก็จะทานอาหารได้ไม่ดีนัก และไม่ค่อยอยากเคี้ยวอาหารเพราะเคี้ยวทีไรก็เจ็บ เด็กที่มีฟันผุเยอะก็มักจะตัวเล็ก ทานได้ไม่เต็มที่ ทำให้เติบโตได้ไม่เต็มที่ด้วย

2. ฟันกรามน้ำนมมีหน้าที่เก็บที่ไว้ให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมาแทน ... ในผู้ใหญ่เราทราบดีว่า เวลาฟันผุจนต้องถูกถอนฟันไปแล้วนั้น ฟันที่อยู่ข้างๆช่องที่ถูกถอน ก็จะล้มเอียงเข้ามา ในฟันน้ำนมก็เช่นกัน นอกจากฟันข้างๆจะล้มเอียงแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือ ฟันทีล้มก็จะล้มมาหรือเลื่อนมาจนไม่เหลือที่ให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมาตรงช่องนั้นขึ้นมาได้ ทำให้ฟันแท้บิดเกซ้อนไปมา ต้องรับการแก้ไขอย่างอื่นๆต่ออีก

3. การมีฟันน้ำนมใช้งาน กระดูกที่รองรับฟันก็จะได้รับการกระตุ้นให้เติบโตขยายใหญ่ขึ้นตามธรรมชาติ หากฟันน้ำนมถูกถอนไป ทั้งกระดูกและพื้นที่ในช่องปากก็จะลดลง ส่งผลให้ฟันแท้เบียดเกได้

คุณพ่อแม่ทุกท่านอยากให้ลูกเติบโต มีพัฒนาการที่ดี เรียนเก่ง มีความมั่นใจในตัวเอง พยายามส่งเสริมพัฒนาการหลายๆอย่างตั้งแต่ก่อนวัยอนุบาล-ประถมเรื่อยมา แต่หากละเลยเรื่องสุขภาพฟันของเด็ก เด็กมีฟันผุไม่ว่าจะเป็นฟันหน้า หรือฟันกราม ล้วนมีผลเสียต่อพัฒนาการทั้งนั้น ทั้งพัฒนาการทางร่างกาย(ทานไม่ค่อยได้) จิตใจ(โดนล้อ ไม่มั่นใจ) และสติปัญญา(ปวดฟันเรียนไม่รู้เรื่อง) ยิ่งในช่วงวัยประถม เด็กจะมีฟันน้ำนมผสมกับฟันแท้ที่ทยอยขึ้นมา เด็กที่มีฟันน้ำนมผุอยู่และไม่ได้รักษา จะมีเชื้อโรคฟันผุจำนวนมากในช่องปาก ทำให้ฟันซี่อื่นๆผุได้ง่าย รวมไปถึงฟันแท้ที่ขึ้นมาใหม่ก็จะผุได้ง่ายด้วยค่ะ 

ความเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพร่างกายทั่วไปบางอย่าง ไม่ทราบวิธีป้องกัน หรือป้องกันได้ยาก แต่โรคทางช่องปากและฟัน โดยเฉพาะฟันผุ เป็นโรคที่ป้องกันได้ไม่ยาก เสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก คุณแม่แทบทุกคนรู้ว่าอะไรจะทำให้ลูกฟันผุ อะไรจะช่วยให้ฟันลูกสวย ขอเพียงปฎิบัติตามความรู้ที่มี ใส่ใจ และให้ความสำคัญตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกของลูกขึ้นค่ะ 

คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านคงจะยังจำความรู้สึกในวันที่เห็นฟันซี่แรกของลูกขึ้นมาขาวๆซี่เล็กๆได้ ว่าตื่นเต้นดีใจขนาดไหน ธรรมชาติให้ฟันขาวๆซี่เล็กๆมาให้ลูกได้ยิ้มสวยน่ารักให้คุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่เท่านั้นที่จะสามารถคงความขาวสวยที่ธรรมชาติให้มานี้ไปจนกว่าจะถึงเวลาที่ฟันแท้จะมาแทนที่นะคะ 

ฟันน้ำนมจึงไม่ “เดี๋ยว”ก็หลุด แต่เป็นฟันที่ไว้ใช้งานตั้งแต่ขวบแรกจนจบชั้นประถม ช่วงวัยที่เด็กกำลังเจริญเติบโตและมีพัฒนาการอย่างมาก อีกด้วยค่ะ ดูแลกันดีๆนะคะ ^_^

หมอมดแดง

(Cr.ภาพฟันจาก google  นำมาแก้ไขอายุให้เป็นช่วงอายุค่ะ)


  • สมาคมทันตกรรมเด็กแห่งประเทศไทย

  • ภาควิชาทันตกรรมเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  • อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา ชั้น 13 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนโยธี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

  • thapdmail@gmail.com